เรียน ท่านผู้ถือหุ้น
บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) |
||
|
||
ในปี 2566 แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางขยายตัว แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิเช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดซึ่งทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัว ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามซึ่งกระทบต่อราคาพลังงานและต้นทุนการผลิต รวมถึงความเปราะบางและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 สำหรับปี 2567 ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกได้รับปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่มีทิศทางผ่อนคลายลง ดังจะเห็นได้จากการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯและการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ แต่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านอื่นๆต่อเนื่องจากปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าปี 2567 เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2566 |
||
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ปี 2566 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิเช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงาน นอกจากนี้ ความล่าช้าในการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐซึ่งยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ที่ขยายตัว 1.9% |
||
สำหรับปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ความพยายามในการเร่งรัดการอนุมัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ ซึ่งหากภาครัฐสามารถดำเนินการได้เร็วและเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น และน่าจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นด้วย |
||
สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในปี 2566 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยลบด้านต่างๆ ประกอบความไม่ชัดเจนในการผลักดันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆของภาครัฐ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศก็กระทบต่อการออกโครงการใหม่ของภาคเอกชนและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ปริมาณงานในตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่ากำลังการผลิตของอุตสาหกรรม การแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง และทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างของปี 2566 อยู่ในภาวะชะลอตัว | ||
ทั้งนี้ จากการที่บริษัทได้ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนภายใน การรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การพัฒนากระบวนการทำงานภายในอย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ฯลฯ ฉะนั้นแม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2566 จะอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย แต่บริษัทก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคดังกล่าวมาได้ด้วยดีและสามารถทำได้ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม | ||
สำหรับในปี 2567 ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยหากภาครัฐสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณได้เร็วและมีความชัดเจนในการผลักดันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ น่าจะทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาเริ่มโครงการก่อสร้างใหม่ๆมากขึ้น โดยบริษัทฯคาดการณ์ว่าอาจจะเห็นภาพของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 | ||
ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว บริษัทจึงยังคงรักษานโยบายการขยายฐานลูกค้าและให้ความสำคัญกับการพิจารณาคัดเลือกลูกค้า การควบคุมต้นทุน การบริหารสภาพคล่อง และการพัฒนาบุคลากรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย |
||
ในโอกาสนี้ ในนามของคณะกรรมการ ผมขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้ความไว้วางใจและความร่วมมือด้วยดีในการดำเนินงานของบริษัท และขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนบริษัทด้วยดีตลอดมา รวมทั้ง ขอขอบคุณคณะผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกคนซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความขยันขันแข็ง อันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความมั่นคงและพัฒนาการให้แก่บริษัท ทำให้บริษัทสามารถที่จะเติบโตและบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ต่อไป | ||